ท้องอืด ภาวะสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม
ท้องอืด เป็นภาวะที่อึดอัดแน่นท้องอันเกิดจากมีลมในกระเพาะมากเกินไป ซึ่งเป็นอาการที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงใดๆเพราะโดยปกติแล้วสามารถหายเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน แต่ว่าถึงแม้จะไม่ร้ายแรงแต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมากพอสมควร เพราะมันสร้างความรำคาญให้ไม่น้อยเลย อีกทั้งถ้าท้องอืดเป็นเวลานานโดยไม่ทางที่มาที่ไป ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป ว่าแต่ใครมีปัญหาท้องอืดบ่อยๆบ้าง วันนี้เราจะพามาทำความเข้าใจเรื่องท้องอืดกันให้มากขึ้น พร้อมทั้งวิธีป้องกันดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้ท้องอืดค่ะ
ท้องอืด เกิดจาก
ท้องอืดเป็นภาวะสุขภาพที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากเรื่องการเจ็บป่วยและพฤติกรรมการรับประทานอาหารด้วย ดังนี้
- กลืนอากาศเยอะเกินไป ไม่ว่าจะการพูดจา หัวเราะหรือแม้แต่หายใจทางปากก็ล้วนทำให้ลมเข้าท้องได้ทั้งสิ้น เมื่อร่างกายได้รับลมเข้าไปแล้ว ลมจะไหลไปตามระบบทางเดินอาหารและถูกกำจัดออกมาโดยการผายลม แต่ถ้าลมเยอะเกินไป อาจจะมีการเรอ สะอึกหรือท้องอืดร่วมด้วยได้
- มีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด รีบทานมากเกินไป หรือทานแล้วนั่งหรือนอนเลย ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ไม่เต็มที่ จะทำให้ท้องอืดได้ง่าย
- ทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแก๊สเยอะ เช่น ถั่ว บล็อกโคลี หากเป็นเครื่องก็เช่น น้ำอัดลม โซดา เบียร์ เป็นต้น ทานเข้าไปมากๆก็สะสมจนกลายเป็นแก๊สในกระเพาะอาหารได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน ถ้าผนังหน้าท้องแข็งแรงมาก มีระบบย่อยอาหารแข็งแรงดีก็อาจจะท้องไม่อืดก็ได้
- ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในผู้หญิง ท้องอืดจัดเป็นหนึ่งในอาการข้างเคียงก่อนมีประจำเดือน เพราะในช่วงนี้ฮอร์โมนจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ของเหลวในร่างกายจะเพิ่มปริมาณขึ้น ทำให้รู้สึกท้องอืดได้
- ท้องผูก เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ท้องผูกได้เช่นกัน แต่ว่าจะไม่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
- ยารักษาโรค ยาบางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้ท้องอืดได้ เช่น วิตามิน อาหารเสริมบางชนิด ยารักษาโรคท้องผูก เป็นต้น
- ผนังช่องท้องอ่อนแอ หากเคยรักษาตัวโดยการผ่าตัดช่องท้องหรือคลอดบุตรมาแล้ว ผนังช่องท้องอาจจะอ่อนแอ เป็นผลทำให้ท้องอืดได้
- ปัจจัยอื่นๆ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการท้องอืดได้ เช่น ตั้งครรภ์ น้ำหนักเกินเกณฑ์ แพ้อาหาร ลำไส้แปรปรวน ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น ทั้งนี้การท้องอืดอาจเกิดจากการมีปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น เนื้องอกในช่องท้อง มะเร็ง มีของเหลวในช่องท้องสำหรับผู้ป่วยโรคไตหรือตับ เป็นต้น
ท้องอืดบ่อยอาการ
ภาวะท้องอืดจะมีอาการอึดอัดแน่นท้อง ไม่สบายท้อง บางครั้งอาจจะปวดจุกเสียดแน่น เป็นกรดไหลย้อนหรือเหมือนมีลมในท้องอยู่ตลอดเวลา จึงเรอหรือผายลมบ่อยๆ บางคนอาจมีเสียงโครกครากในท้องด้วย ท้องอืดเป็นภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าหากเป็นนานๆหรือมีอาการรุนแรงอย่างเช่น อาเจียนเป็นเลือด ปวดท้องมาก หมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ท้องอืดป้องกันอย่างไร
เมื่อเราทราบถึงสาเหตุของการท้องอืดกันแล้ว การป้องกันก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้ท้องอืดเท่านั้น ดังนี้
- ลดการกลืนอาการ ทำได้โดยการเคี้ยวอาหารให้ช้าลง ดื่มเครื่องดื่มจากแก้วแทนหลอด งดเคี้ยวหมากฝรั่ง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่เพิ่มแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น ถั่วทุกประเภท ผักประเภทหัว แต่ว่าอาหารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก เพราะฉะนั้นไม่ควรงดทานเสียหมด แต่ทำให้สุกนิ่มและเคี้ยวให้ละเอียด จะช่วยลดการเกิดแก๊สลงได้ ส่วนเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น เครื่องดื่มอัดแก๊สและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงทุกประเภท หากเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการย่อยเลกโตสในนม ก็ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมเช่นเดียวกัน แต่ถ้าชอบดื่มนมแนะนำให้ดื่มนมแบบไม่มีเลกโตสหรือนมถั่วเหลืองแทนก็ได้เช่นเดียวกัน
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่ใช้ซอลบิทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพราะซอลบิทอลผลิตมาจากฟรุกโตส ทานมากเกินไปก็ทำให้ท้องอืดได้เช่นเดียวกัน
- ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่นั้นทำให้กลืนอากาศเข้าไปมากขึ้น หากงดสูบก็จะลดการสะสมของแก๊สในส่วนนี้ได้
- แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย สำหรับบางคนการทานอาหารแบบ 3 มื้อ แต่ละมื้ออาจมีปริมาณมากเกินกว่าที่ร่างกายควรจะได้รับ ทำให้มีปัญหาเรื่องการย่อยและท้องอืดได้ เพราะฉะนั้นลองแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย 4-5 มื้อแทนแล้วลดปริมาณอาหารลง ระบบย่อยน่าจะทำงานได้ดีมากขึ้น ลดอาการท้องอืดลงได้
ท้องอืดเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่รุนแรงอะไร เพียงแต่มันสร้างความรำคาญให้ผู้ป่วยพอสมควร เพราะฉะนั้นจึงแนะนำให้ป้องกันภาวะท้องอืดด้วยวิธีการที่แนะนำไปข้างต้น ส่วนใหญ่ก็เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารและการใช้ชีวิตเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามหากท้องอืดแล้วมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียนไม่หยุด อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีเลือดปน เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพระว่าอาจจะไม่ได้เป็นแค่ท้องผูกเท่านั้น แต่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆซ่อนอยู่ด้วย อย่างเช่นโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับภาวะในช่องท้อง