ปวดหัวไมเกรน โรคปวดหัวอย่างรุนแรงที่ไม่อันตราย แต่ก็ไม่ควรมองข้าม
โรค ปวดหัวไมเกรน เป็นโรคที่ปกติแล้วไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายและมันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมาก เพราะเมื่อเวลาที่อาการกำเริบในแต่ละครั้งนั้นจะปวดหัวหนักมาก บางคนคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ถึงกับเสียงานเสียการเลยก็มี เพราะฉะนั้นลองมาทำความเข้าใจโรคนี้เพิ่มขึ้นดูกัน เมื่อรู้จักกับโรคนี้เพิ่มมากขึ้นแล้ว รับรองว่าเตรียมพร้อมรับมือได้ง่ายมากขึ้นอย่างแน่นอน
ปวดหัวไมเกรน คืออะไร
โรคไมเกรน (Migraines) คือโรคปวดหัวแบบรุนแรง โดยมากมักจะปวดแค่ข้างเดียวไม่เหมือนกับปวดหัวโรคเครียด แต่บางรายอาจจะปวดข้างเดียวก่อนแล้วลามไปปวดอีกข้างก็ได้ ทั้งนี้จะพบร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือดวงตาสู้แสงไม่ได้ร่วมด้วย โรคนี้พบได้บ่อยมาก โดยพบในผู้หญิงมากถึง 1:5 คนและผู้ชาย 1:15 คน โดยจะพบได้บ่อยในวัยเด็ก วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
ปวดหัวไมเกรน อาการ
อาการปวดหัวแบบไมเกรน จะได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- Prodrome เป็นระยะก่อนมีอาการหรือเรียกง่ายๆว่าระยะบอกเหตุ ประมาณ 1-2 วันก่อนไมเกรนจะแสดงอาการ อาจมีสัญญาณอื่นๆเตือนล่วงหน้าก่อน เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย ปวดตึงตามต้นคอ ท้องผูก อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
- Aura ระยะการเตือน อาจะเกิดก่อนหรือเกิดพร้อมกับการปวดหัวเลยก็ได้ รวมถึงบางรายอาจไม่เจอกับการเตือนและสามารถปวดหัวได้เลยก็มี อาการเตือนนี้มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่พบบ่อยสุดคือการเห็นแสงวูบวาบ ประสิทธิการมองเห็นแย่ลง สายตาพร่ามัว เห็นจุดหรือเส้นแบบซิกแซก เป็นรูปทรงบิดเบี้ยวไม่ตรงกับความเป็นจริง เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้าหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วยได้ ซึ่งอาการทั้งหมดอาจเกิดขึ้นในชั่วระยะเวลาไม่กี่นาที แต่จะคงอยู่เป็นชั่วโมงหรืออาจจะหลายชั่วโมงก็ได้แล้วแต่บุคคล
- Headache ระยะปวดหัว โดยจะปวดหัวอย่างรุนแรง ปวดในลักษณะปวดตุบๆข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ สายตาอาจพร่ามัวและสู้กับแสงที่จ้ามากไม่ได้ หากเจอแสงจ้า เสียงดังหรือกลิ่นเหม็นจะทำให้รู้สึกปวดหนักกว่าเดิม ในรายที่ปวดหนักมากๆอาจจะคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะและเป็นลมได้
- Postdrome ระยะหายปวด เกิดขึ้นหลังจากหายปวดไมเกรนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอาจจะมีอาการอื่นๆตามมาได้ เช่น อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย วิงเวียนศีรษะ สับสนและยังคงไวต่อแสงและสีอยู่เหมือนเดิม
ทั้งนี้ หากมีอาการปวดไมเกรนอย่างรุนแรงจนอาจกลายเป็นโรคเครียดวิตกกังวล ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยการทานยาแก้ปวด แนะนำให้ไปพบแพทย์แล้วบอกเล่าอาการที่ตัวเองประสบมา เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป ส่วนอาการปวดไมเกรนที่ควรไปพบแพทย์นั้น มีดังต่อไปนี้
- มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน หรือปวดแบบรุนแรงๆทั้งที่ไม่เคยปวดมาก่อน
- ปวดหัวอย่างรุนแรงหลังประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะ
- ปวดหัวพร้อมกับมีอาการทางประสาท เช่น ชัก สับสนมากๆ พูดไม่ชัดหรือพูดจาติดขัดสับสน มึนงง มองเห็นภาพซ้อน เป็นต้น
- ปวดหัวพร้อมกับอาการคอแข็งหรือมีไข้
- ปวดหัวเรื้อรัง เมื่อไอหรือเปลี่ยนอิริยาบถแล้วทำให้ปวดมากขึ้น
ปวดหัวไมเกรน กินอะไรหาย
การรักษาโรคไมเกรนโดยทั่วไปแล้วจะใช้วิธีการรับประทานยา ยาที่ใช่รักษาโรคไมเกรนจะมีอยู่หลายชนิด ความแรงของยาก็จะต่างกัน ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาขนาดไหนให้ก็ขึ้นอยู่กับระดับการปวดและความถี่ในการปวด ดังนี้
- ยาบรรเทาปวดโดยทั่วไป ยากลุ่มนี้ที่เราคุ้นเคยกันจะมีหลักอยู่ๆ 3 ชนิดคือ พาราเซตามอล(Paracetamol) แอสไพริน(Aspirin) และยากลุ่ม NSAID อย่างไอบูโพรเฟน เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหัวระดับอ่อนถึงระดับกลาง อย่างไรก็ตามพาราเซตามอลอาจใช้ไม่ได้ผลเท่าไรนัก ดังนั้นแพทย์จังมักจ่ายยาสองชนิดหลังมากกว่า ข้อเสียของยาในกลุ่มนี้คือ กัดกระเพาะ ดังนั้นหากทานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
- ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) ยากลุ่มนี้ยังแยกย่อยไปได้อีกหลายชนิด สามารถรักษาอาการปวดหัวและอาการข้างเคียงอื่นๆจากโรคไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามมันอาจทำให้คลื่นไส้หรือวิงเวียนศีรษะได้บ้างและมาเหมาะสำหรับนำมาใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ
- ยาเออร์กอต (Ergots) เป็นยาที่ผสมจากเออร์โกตามันกับคาเฟอีน ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะ แต่หากทานไปนานๆอาจมีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียนหรือเป็นโรคปวดหัวจากการทานยามากเกินไปได้
นอกจากนี้จะมียาที่มักใช้รักษาควบคู่กันไปซึ่งก็คือ ยาแก้คลื่นไส้ เพราะผู้ป่วยโรคไมเกรนมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมกับอาการปวดศีรษะ ในกรณีที่รักษาด้วยยาที่กล่าวไปด้านบนไม่ได้ผล แพทย์อาจะพิจารณาใช้ยากลุ่มโอปินอยด์ซึ่งเป็นยาที่มีส่วนผสมของยาเสพติดหรือยาสเตียรอยด์มาใช้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ถูกนำมาใช้ เพราะผลข้างเคียงค่อนข้างเยอะ ทั้งนี้ยารักษาไมเกรนจะจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ ยารักษาอาการปวดกับยาป้องกันอาการปวด ซึ่งยาในกลุ่มแรก เป็นยาที่ต้องทานทันทีที่มีอาการและสามารถหยุดทานได้เมื่ออาการทุเลา ส่วนยาประเภทที่สองเป็นยาป้องกันดังนั้นต้องรับประทานทุกวัน แต่บางคนก็ไม่ชอบทานยาแผนปัจจุบัน อาจจะเลือกบรรเทาอาการโดยการทานสมุนไพรบางชนิด เช่น
- ใบบัวบก โรคปวดไมเกรนในมุมแพทย์แผนไทยเชื่อว่าโรคนี้เกิดจากการที่ธาตุไฟและธาตุลมผิดปกติในด้านบนของร่างกาย ซึ่งก็คือศีรษะนั่นเอง ทำให้ปวดหัวและการมองเห็นผิดไปจากปกติ ดังนั้นการใช้สมุนไพรฤทธิ์อย่างใบบัวบกอาจเป็นทางเลือกที่ดี สำหรับวิธีการทานนั้นไม่ยาก เพียงแค่นำต้นใบบัวบกสดๆ 2 กำมือ มาคั้นกับน้ำดื่มสองเวลาเช้า-เย็น หรือจะนำมาทานสดเป็นเครื่องเคียงกับพวกน้ำพริกก็ได้เช่นเดียวกัน
- ขิง มีงานวิจัยจากต่างประเทศไม่นานมานี้ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณของขิงในการรักษาไมเกรน การทดลองนั้นทำกับผู้ป่วยไมเกรน 100 คนในอิหร่าน ผู้ป่วยเหล่านี้เป็นไมเกรนมานานกว่า 7 ปีและปวดมากกว่า 2 ครั้ง/เดือน การทดลองแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ทานแคปซูลขิง 250 มิลลิกรัม ส่วนกลุ่มที่ 2 ทานยาแก้ปวดไมเกรนซูมาทริปแทน 50 มิลลิกรัม โดยทานเฉพาะเมื่อมีอาการ ผลการทดลองพบว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ทานขิงมีอาการดีขึ้นใกล้เคียงกับกลุ่มที่ทานยาแผนปัจจุบัน แถมขิงยังมีข้อดีมากกว่าตรงที่ ทานแล้วไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงแบบซูมาทริปแทนที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนและปวดแสบปวดร้อนที่หน้าอก ถึงแม้ขิงจะเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน แต่ขิงมีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบภายในร่างกาย ลดการผลิตสารพรอสตาแกลนดินซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบนั่นเอง นอกจากนี้ขิงยังช่วยให้คลื่นไส้อาเจียนน้อยลงอีกด้วย เพราะฉะนั้นใครที่กำลังมองหาทางเลือกอื่นๆในการรักษา จะลองจิบน้ำขิงอุ่นๆดูในตอนที่ปวดไมเกรนก็ดูเป็นวิธีที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
ปวดหัวไมเกรน อาหารที่ควรเลี่ยง
อาหาร อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้โรคไมเกรนกำเริบได้ ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องสังเกตอาการของตัวเองว่ามันจะกำเริบเมื่อทานอะไรเข้าไป แล้วหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น แต่โดยทั่วไปอาหารที่กระตุ้นไมเกรนในคนส่วนใหญ่มีดังนี้
- แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์แดง ซึ่งสามารถกระตุ้นได้สูงสุดถึง 30% ส่วนแอลกอฮอล์ประเภทอื่นๆก็ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน เพราะดื่มน้ำจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งมันจะไปกระตุ้นให้รู้สึกปวดหัวได้(เหมือนตอนที่ดื่มมากๆ แล้วแฮงค์จนปวดหัวหนักมากนั่นเอง)
- สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบได้ สารเหล่านี้ปัจจุบันพบในอาหารมากมายหลายชนิด รวมไปถึงเครื่องดื่มและลูกอมต่างๆด้วย
- อาหารที่มีโซเดียมสูง โซเดียมอาจส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง จนทำให้ปวดหัวไมเกรนได้ ดังนั้นควรลดอาหารในกลุ่มนี้ลง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปต่างๆ ซอสปรุงรส เป็นต้น และอย่าลืมใส่ผงชูรสให้น้อยลงด้วยเวลาประกอบอาหาร
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน จริงๆแล้วการที่ร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณที่ “เล็กน้อย” จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้ พออาการมันดีขึ้นทำให้หลายคนเข้าใจว่ามันช่วยแก้ปวดได้ดี จึงต้องรีบหามาดื่มทุกครั้งที่มีอาการและอาจจะดื่มมากเกินความจำเป็นโดยเฉพาะกาแฟ สุดท้ายแทนที่จะช่วยมันกลับทำให้รู้สึกติดเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้น พอไม่ได้ดื่มก็จะปวดหัวหนักขึ้น เพราะร่างกายติดคาเฟอีนไปแล้วนั่นเอง
- ชีสที่ถูกหมักบ่มมาเป็นเวลานาน โดยปกติแล้วคนไทยอาจไม่ค่อยได้ทานชีสกลุ่มนี้บ่อยนัก แต่ใครที่เคยไปอยู่ต่างประเทศมาก่อนอาจรู้สึกชอบทานก็ได้ แต่มันที่มันกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบได้เนื่องจากชีสเหล่านี้มีสารไทรามีน ซึ่งมันทำปฏิกิริยาบางอย่างกับสารส่งผ่านประสาท ทำให้ปวดหัวได้
ถึงแม้ไมเกรนจะเป็นที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพมากนัก แต่มันก็รักษาให้หายขาดได้ยากและยังสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยไม่น้อยเลย ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการ โดยแพทย์อาจจะจ่ายยามาหรือให้คำแนะนำที่มีประโยชน์อื่นๆในการดูแลสุขภาพ หากดูแลตัวเองดีๆ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เป็นไมเกรนแล้ว ผู้ป่วยบางรายาอาจอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้โดยที่ไม่ต้องทานยาก็ได้ อย่างไรก็ตามหากปวดหัวแล้วมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย “ห้ามไปซื้อยามาทานเพิ่มเองโดยเด็ดขาด” อย่านิ่งนอนใจ เพราะมันอาจเป็นสัญญาณของภัยสุภาพอื่นๆที่ซุกซ่อนอยู่ก็เป็นได้
อ่านข้อมูลในเพิ่มเติมได้ที่ honestdocs.co/migraine-headaches