โรคซิฟิลิส โรคร้ายอันตราย ที่ติดต่อได้ง่ายเพียงแค่สัมผัสแผล
โรคซิฟิลิส คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่งที่ติดเชื้อได้ง่ายไม่ต่างจากโรคเอดส์ ปัจจุบันนี้โรคนี้เริ่มกลับมาอีกครั้งในหมู่วัยรุ่น เพราะพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยและไม่ป้องกันตัวเองขณะมีเพศสัมพันธ์ หลายคนอาจจะเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงอะไรมากนัก ซึ่งมันก็จริง แต่ว่าหากรักษาผิดวิธีหรือไม่เข้ารับการรักษาเลย โรคก็อาจพัฒนาไปสู่ระยะรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเริ่มสงสัยกันแล้วใช่ไหมว่า โรคนี้เกิดจากอะไร รุนแรงขนาดไหน รักษาให้หายขาดได้หรือเปล่า วันนี้ทางเราได้รวบรวมคำตอบมาฝากกันแล้วค่ะ
โรคซิฟิลิส คือ
- โรคซิฟิลิส (Syphils) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทรีโพนีมาพัลลิดุม(Treponema Pallidum) เชื้อจะมีลักษณะเหมือนเกลียวสว่าน และถูกทำลายได้ง่ายหากอยู่ในที่แห้งหรือล้างด้วยสบู่ โรคนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยรองจากหนองในแท้และหนองในเทียม พบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ปัจจุบันนี้พบได้มากขึ้น ซึ่งเป็นโรคที่ค่อนข้างน่ากลัวเนื่องจากมีระยะการแฝงตัวของโรคยาวนานมากๆ สารถแพร่เชื้อไปสู่คู่สมรสหรือทารกในครรภ์ได้ รวมทั้งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเลยทีเดียว
คุณอาจสนใจบทความนี้ คลิกดู โรคมือเท้าปาก

โรคซิฟิลิสอาการ
โรคซิฟิลิสจะมีระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 10-90 วันโดยประมาณ สำหรับอาการจะมี 3 ระยะ ความรุนแรงจะแตกต่างกัน ดังนี้
- ระยะที่ 1(Primary Syphilis) เรียกอีกอย่างว่าระยะเป็นแผล อาการคือจะมีตุ่มขนาดเล็กเกิดขึ้นบริเวณที่ร่างกายได้รับเชื้อเข้าไป ซึ่งสามารถเกดได้หลายตำแหน่ง เช่น อวัยวะเพศ ลิ้น ริมฝีปาก ช่องคลอด อัณฑะ ทวารหนัก ขาหนีบ เป็นต้น แผลจะมีขนาด 2-4 มิลลิเมตรและจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยแผลจะมีลักษณะเหมือนยุบลงไป รูปไข่หรือวงกลม ก้นแผลดูเรียบและสะอาด ส่วนขอบแผลแข็งและยกนูนขึ้น ไม่เจ็บ ไม่คัน ซึ่งจะเรียกกันว่า แผลริมแข็ง ซึ่งแผลนี้สามารถหายไปได้เองภายใน 3-10 สัปดาห์ถึงแม้ไม่ได้รับการรักษาก็ตาม แต่ว่าเชื้อจะยังอยู่ในกระแสเลือด หากตรวจเลือดหาเชื้อ ผลจะออกมาเป็นบวก ต่อมาอีก 1 สัปดาห์หลังปรากฏแผลขึ้น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบจะบวมโต แข็ง แต่กดไม่เจ็บ ที่บวมเนื่องจากเชื้อเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองเรียบร้อยแล้ว
- ระยะที่ 2(Secondary Syphilis) หรือเรียกอีกอย่างว่า ระยะเข้าข้อออกดอก เป็นระยะที่โรคพัฒนามากขึ้นโดยใช้เวลา 1-3 เดือนนับจากเริ่มมีตุ่มขึ้น เชื้อโรคจะเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายรวมทั้งอยู่ในกระแสเลือดด้วย จึงแพร่กระจายเชื้อไปยังอวัยวะอื่นๆ ผลที่ตามมาคือมีจุดแดงสีแดงหรือสีน้ำตาลขึ้นทั่วร่างกาย แม้กระทั่งฝ่ามือฝ่าเท้าก็มีตุ่มเช่นเดียวกัน แต่จะไม่เจ็บไม่คันเหมือนเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างจากผื่นทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาคืออาจพบเนื้อตายจากผื่นและหลุดลอกออกมาจากผิวหนัง เป็นเนื้อผสมน้ำเหลือง ซึ่งในน้ำเหลืองก็มีเชื้อซฟิลิสเหมือนกัน นอกจากนี้ยังพบอาการอื่นร่วมด้วยได้อีกหลายอาการ เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง มีไข้ต่ำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผมร่วง เยื่อหุ้มสมอง, ม่านตา ตับหรือไตอักเสบ มีหูดขึ้นตามบริเวณที่อับชื้นในร่างกาย เป็นต้น ในบางรายอาจมีเยื่อสีขาวอมเทาคลุมอยู่ตามแผลในปากหรืออวัยวะเพศ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีผื่นขึ้นเลย แต่จะมีอาการอื่นๆ เช่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ผมร่วง มีไข้ เจ็บคอ เป็นต้น ส่วนอาการผื่นนั้นสามารถหายได้เองภายใน 2-6 สัปดาห์ ถึงแม้จะไม่ได้รับการรักษาเช่นเดียวกัน
ระยะสงบ (Latent Syphilis) เป็นระยะที่ต่อเนื่องจากระยะที่ 2 ผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไรมาก บางรายอาจไม่มีอาการเลย แต่ถ้าตรวจเลือดหาเชื้อ ผลก็ยังเป็นบวก เพราะว่าเชื้อยังคงแฝงอยู่ในร่างกาย โดยอาจจะอยู่ได้นาน 5-30 ปี แล้ว ค่อยพัฒนาไปสู่ระยะสุดท้าย
- ระยะที่ 3(Tertiary syphilis) หรือระยะทำลาย การที่โรคจะพัฒนามาถึงระยะนี้ได้หมายความผู้ป่วยไมได้รับการรักษาหรือได้รับการรักษาที่ไม่ถูกอย่างเช่น การไปซื้อยามาทานเอง ทำให้เชื้อไม่ถูกทำลาย มันจึงเดินทางเข้าสู่สมองและไขสันหลัง ทำให้มีอาการทางสมองตามมาคือ สายตาพร่ามัว ตาบอด เดินเซ อัมพาต สมองเสื่อม เสียสติ มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ นอกจากยังอาจมีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และถ้าหากเชื้อเข้าสู่หัวใจ หลอดเลือดจะมีความผิดปกติได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ค่อยมีอาการในระยะที่ 1-2 แต่เชื้อจะอยู่ในระยะสงบและปรากฏอาการอีกทีในช่วงระยะที่ 3 เลยก็ได้
สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิฟิลิสแล้วไมได้รับการรักษา ทารกอาจได้รับเชื้อได้ ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือคลอดออกมาแล้วเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจล้มเหลว หรืออาจะพิการไปตลอดชีวิตได้ ซึ่งเด็กทารกที่เป็นโรคซิฟิลิสตั้งแต่กำเนิดนั้น มักจะปรากฏอาการภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด เช่น ผิวหนังลอกและซีดเหลือง เป็นหวัด น้ำมูกมีสีช้ำเลือดช้ำหนอง ตับและม้ามโต เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดความพิการขึ้นกับร่างกาย เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ จมูกบี้ยุบจนพูดไม่ชัด เป็นต้น
คุณอาจสนใจบทความนี้ คลิกดู โรคไข้เลือดออก

โรคซิฟิลิสหายได้ไหม
- โรคซิฟิลิสรักษาหายได้ด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะ ซึ่งขนาดของยาและระยะเวลาในการรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะของโรคและการแพร่กระจาย เมื่อตรวจพบว่าเป็นซิฟิลิส ผู้ป่วยต้องงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย หากมีคู่สมรส ผู้ป่วยต้องพามาพบแพทย์ด้วยเพื่อตรวจร่างกายว่ามีเชื้อซิฟิลิสอยู่หรือไม่ การเป็นโรคนี้จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคอื่นด้วย โดยเฉพาะ HIV เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าทางแผลได้ง่าย มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคมากถึง 2-5 เท่านั้น เมื่อเป็นซิฟิลิส ไม่ว่าจะอยู่ในระยะใด ต้องเข้ารับการรักษา ถึงแม้ว่าโรคจะยังสงบอยู่ก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ห้าม พยายามรักษาโรคนี้ด้วยตัวเองโดยเด็ดขาด เพราะหากรักษาผิดวิธี โรคอาจลุกลามเข้าสู่ระยะที่ 3 ได้อย่างรวดเร็ว สุดท้ายนี้ผู้ป่วยสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้ โดยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้มากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรืออาหารเผ็ดร้อนต่างๆและรักษาความสะอาดของร่างกายโดยการอาบน้ำบ่อยๆค่ะ
สรุปได้ว่าโรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบหนึ่งที่มีระยะการป่วยที่ยาวนานมากหากไมได้รับการรักษา แถมโรคยังพัฒนาไปสู่ระยะสุดท้ายที่สามารถก่ออันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้อีก เพราะฉะนั้นหากใครทราบว่าตัวเองให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที ห้ามพยายามรักษาด้วยตัวเอง เพราะหากรักษาอย่างถูกวิธีจากแพทย์ โรคนี้สามารถหายขาดได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการป้องกันย่อมดีกว่ามานั่งแก้ไข หากไม่อยากป่วยเป็นโรคนี้ควรงดมีเพศสัมพันธ์หรือมีแค่คนเดียวและต้องมั่นใจว่าคู่นอนนั้นปลอดเชื้อด้วย ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ในกรณีอื่นๆแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัย เพราะมันช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายโรค สำหรับซิฟิลิส ถึงแม้ป้องกันได้ไม่เต็ม 100% แต่ก็ลดโอกาสติดโรคได้พอสมควรค่ะ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้ https://www.honestdocs.co/what-is-syphilis