โรคไข้เลือดออก มหันตภัยร้ายที่มากับหน้าฝน
โรคไข้เลือดออก เป็นหนึ่งในโรคที่พบการแพร่ระบาดอยู่ทุกปีในช่วงฤดูฝน แล้วก็มักจะมีผู้เสียชีวิตเพราะโรคนี้ทุกปีเช่นเดียวกัน โรคนี้จึงเป็นโรคที่อันตรายมากหากรู้ไม่เท่าทัน เพราะฉะนั้นวิธีแก้ไขที่ดีคือศึกษารายละเอียดของโรคให้เข้าใจ จะช่วยให้สามารถป้องกันและรับมือกับโรคได้อย่างถูกวิธีเมื่อเกิดการระบาดขึ้น
สาเหตุของ โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มีพาหะนำโรคคือยุงลาย ดังนั้นจะพบการแพร่ระบาดของโรคนี้มากในช่วงฤดูฝน เพราะแหล่งน้ำเยอะขึ้น ยุงลายแพร่พันธุ์ได้ดี ไวรัสเดงกี่มีทั้งหมด 4 สายพันธ์คือ เดงกี่ 1 2 3 และ 4 ซึ่งจะระบาดหมุนเวียนกันไปแล้วแต่พื้นที่ โรคนี้จะติดต่อจากคนสู่คน แต่ถ้ามีผู้ป่วยโรคนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น ยุงอาจไปกัดคนป่วยแล้วมาแพร่เชื้อใส่คนปกติได้ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการระบาดของโรคไข้เลือดสูงมากเป็นอันดับ 2 ของทวีปเอเชีย เป็นรองแค่ฟิลิปปินส์เท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 10-14 ปี เป็นที่รุนแรงมากกว่าที่คิด หากมีผู้ป่วย 1,000 คน จะมีผู้เสียชีวิต 1-2 คนเนื่องจากเลือดออกมากเกินไปหรือพลาสม่ารั่วจนทำให้เกิดอาการช็อค
โรคไข้เลือดออก อาการ
เมื่อร่างกายรับเชื้อได้เลือดออกแล้วจะเข้าสู่ระยะฟักตัว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-8 จะเริ่มปรากฏอาการ ซึ่งอาการมีหลายอย่าง หลายระดับ ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการหนักเบาไม่เท่ากัน โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการเฉพาะเรียงตามแบบแผน 4 อาการตามลำดับ ดังนี้
- มีไข้สูงลอย 2-7 วัน
- มีอาการไข้เลือดออกปรากฏที่ผิวหนัง
- ตับอักเสบ ตับโต กดแล้วเจ็บ
- ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือช็อคหมดสติ
ซึ่งการดำเนินการของโรคนั้นแบ่งออกเป็น 3 ระยะใหญ่ๆ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤติและระยะฟื้นตัว ดังนี้
- ระยะไข้ มีไข้สูงลอยเฉียบพลัน ส่วนใหญ่จะสูง 5 องศาเซลเซียส แต่บางรายก็อาจสูงมากถึง 40-41 องศาเซลเซียส หากเป็นผู้ป่วยเด็กอาจชักได้โดยเฉพาะในเด็กที่มีประวัติชักมาก่อน ซึ่งเด็กอาจจะต้องระวังมากเป็นพิเศษในฤดูฝนทั้งโรคนี้และมือเท้าปาก โดยไข้จะขึ้นติดต่อกัน 2-7 วันโดยที่ส่วนแล้วผู้ป่วยจะไม่ไอหรือมีน้ำมูกร่วมด้วยเหมือนไข้หวัด หน้าแดง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาเจียน ผ่านไปสัก 2-3 วันผู้ป่วยบางรายจะมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง โดยจะพบกระจายทั่วทั้งร่างกาย นอกจากนี้อาจเลือดกำเดาไหลหรือมีเลือดออกตามไรฟันด้วย ในรายที่รุนแรงอาจมีเลือดในร่างกาย ในทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียนหรืออุจจาระออกมาเป็นเลือด สังเกตง่ายคือจะมีสีดำปนออกมา หากป่วยได้ 3-4 วัน ตับจะเริ่มอักเสบและบวมโตขึ้น จะสามารถคลำเจอในระยะนี้ เวลากดตับจะนุ่มและกดเจ็บมาก
- ระยะวิกฤติ หรือระยะช็อค ผู้ป่วยไข้เลือดออก 1 ใน 3 จะมีอาการรุนแรง โดยไข้จะลดลงต่ำลงอย่างรวดเร็ว ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเพราะมีการรั่วของพลาสม่าไปที่ช่องปอด เป็นระยะที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที เนื่องจากระบบอวัยวะภายในมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงไป ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา มือเท้าเย็น เป็นต้น ระยะนี้มักจะเกิดในวันท้ายๆของการป่วย
- ระยะฟื้นตัว 2 ใน 3 ของผู้ป่วยที่ไข้ลดลงและไม่ช็อค อาการจะดีขึ้นและฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาแค่ประมาณ 2-3 วันเท่านั้น
อย่างไรก็ตามหากป่วยเป็นไข้เลือดออกครั้งแรก อาการจะไม่รุนแรงเท่าไรนัก บางรายติดเชื้อก็จริงแต่ร่างกายแข็งแรงอาจจะไม่แสดงอาการใดๆเลย แต่ถ้าติดเชื้อครั้งต่อมา ส่วนมากอาการจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากปกติแล้วไข้เลือดออกจะมี 4 สายพันธ์ด้วยกัน เมื่อเรารับเชื้อสายพันธ์ใดสายพันธ์หนึ่งไปแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่ป่วยอีกถ้าได้รับเชื้อสายพันธ์เดิมที่เคยติดมาก่อน แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วจะได้รับสายพันธ์ใหม่มากกว่า ร่างกายก็จะเข้าใจไปว่าได้รับเชื้ออีกแล้วจึงพยายามสร้างภูมิคุ้มกันมาเพื่อต่อต้าน กลายเป็นว่าเหมือนติดเชื้อไข้เลือดออกทีเดียว 2 สายพันธ์พร้อมกัน อาการจึงรุนแรงมากๆ เพราะฉะนั้นหากอยู่ในพื้นที่แพร่ระบาด บ้านกันยุงไม่ค่อยดี แล้วจู่ๆมีไข้สูงขึ้นมา ควรรักษาตามอาการแล้วถ้าไม่หายให้ไปพบแพทย์ในวันที่ 3-4 เพราะไข้เลือดออกจะตรวจไม่พบในช่วง 1-2 วันแรก ในระหว่างดูอาการอยู่ที่บ้าน ให้เช็ดตัว ทานยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามทานแอสไพรินโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกในร่างกายได้
การรักษาโรคไข้เลือดออก
ปัจจุบันนี้ยังไม่มียาตัวใดที่สามารถรักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรงได้ เพราะฉะนั้นจึงทำได้แค่รักษาประคับประครองตามอาการ โดยต้องดูแลอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะวิกฤติ สำหรับแนวทางการรักษามีดังนี้
- ลดไข้ โรคไข้เลือดออกจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องคอยเช็ดตัวผู้ป่วยและทานยาพาราเซตามอลตามเวลาเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ป้องกันไม่ให้ชัก ยาทานได้แค่พาราเซตามอลเท่านั้น หากเป็นยาอื่นอย่างแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ทานแล้วอาจทำให้เกล็ดเลือดทำงานไม่ดี เลือดจะออกง่ายยิ่งขึ้น หรือหากไข้ยังไม่ลดคุณอาจต้องพบแพทย์เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน
- ให้สารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเบื่ออาหารและอาจอาเจียนร่วมด้วย ดังนั้นจึงต้องให้สารน้ำเพื่อป้องกันภาวะน้ำ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรดื่มน้ำผลไม้หรือเกลือควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มวิตามินกับเกลือแร่ให้ร่างกาย
- ตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดและ hematocrit เพราะหากเกล็ดเลือดต่ำลง แต่ hematocrit สูงขึ้น อาจเป็นสัญญาณว่ามีพลาสม่ารั่วออกนอกเส้นเลือด เสี่ยงต่อการช็อคได้ ต้องให้สารน้ำโดยด่วน
การป้องกันไข้เลือดทำได้โดยการกำจัดยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคและดูแลตัวเองในส่วนอื่นๆ ดังนี้
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ปิดฝาโอ่งน้ำ คว่ำภาชนะที่แตกรอบบ้าน กลบหลุมดินที่เป็นแอ่งน้ำขัง หากเป็นภาชนะที่ไม่สามารถปิดได้ เช่น ถ้วยชามบนศาลพระภูมิ แจกันดอกไม้ จานรองขาตู้กับข้าว อ่างล้างน้ำ เป็นต้น ควรใส่ทรายอะเบทลงเพื่อกำจัดลูกน้ำ หรือว่าจะหาปลาหางนกยูงมาเลี้ยงแทนเพื่อกำจัดในแบบธรรมชาติก็ได้ ฉีดพ่นยาฆ่ายุงตามจุดอับภายในบ้าน อย่าลืมแต่งกายให้รัดกุมก่อนฉีดด้วยเพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมี หากพบว่ามีการระบาดจริงๆแนะนำให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะได้ดำเนินการในภาพรวมอีกครั้งตามสเตปต่อไป
- ป้องกันการถูกยุงกัด ติดมุ้งลวดที่ประตูและหน้าต่างทั้งหมด แต่งกายมิดชิดเมื่อออกจากบ้าน ทายากันหรือฉีดยากันยุง หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในพื้นที่แพร่ระบาด ตรวจเช็คบ้านว่ามีรูมีช่องพอให้ยุงเข้ามาได้หรือไม่ หากมีก็ปิดให้เรียบร้อย ไม่อยู่บริเวณที่มืดและอับชื้น
- ดูแลสุขภาพ โดยใส่ใจในเรื่องอาหารและการออกกำลังกายควบคู่กันไป อย่าลืมดื่มน้ำให้มากๆและพักผ่อนให้เพียงพอด้วย หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงก็จะเจ็บป่วยน้อยลง ถ้าป่วยก็จะหายไว
- ฉีดวัคซีน ปัจจุบันนี้วัคซีนป้องกันไข้เลือดกำลังถูกพัฒนาขึ้นและมีบางตัวอย่างวัคซีน Dengvaxia (CYD-TDV) ที่อนุญาตให้ใช้ได้แล้วรวมถึงในประเทศไทยด้วย วัคซีนตัวนี้ป้องกันไวรัสเดงกี่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ สามารถฉีดได้ในคนที่มีอายุ 9-45 ปี มีทั้งหมด 3 เข็ม ฉีดห่างกันเข็มละ 6 เดือน ตอนนี้ประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 65% ถึงแม้จะยังไม่สูงมากนัก แต่ก็ช่วยความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือลดความรุนแรงของโรคได้เมื่อติดเชื้อไปแล้ว
สรุปได้ว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่อันตรายมากค่ะ ติดต่อได้ง่ายเพียงแค่ถูกยุงลายที่ติดเชื้อกัดเท่านั้นเพราะฉะนั้นจึงต้องดูแลตัวเองให้ดี กำจัดแหล่งน้ำขังรอบบ้านให้หมด ปิดฝาภาชนะใส่น้ำภายในบ้าน กำจัดลูกน้ำยุงลายและอย่าให้ถูกยุงกัด เน้นการดูแลตัวเองมากขึ้นในช่วงฤดูฝนเนื่องจากเป็นฤดูกาลที่ยุงลายแพร่พันธุ์ได้มากที่สุดนั่นเอง
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้ : ความหมาย ไข้เลือดออก