โรคไต อาการ ระยะของโรคและอาหารที่ไม่ควรกิน
โรคไต เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน เกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ใช่แค่เพราะกินเค็มเพียงอย่างเดียว โรคไตมีหลายระยะ หากตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกๆมีโอกาสมากที่จะรักษาได้หายขาดแล้วสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่ถ้าหากปล่อยปละละเลยมาจนเข้าสู่ระยะท้ายๆจะรักษาได้ยาก อาจต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดไปตลอดชีวิต ซึ่งอาการป่วยในระยะหลังจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมากเลยทีเดียว คล้ายกับการรักษาโรคตับแข็ง เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ทุกคนทำความรู้จักกับโรคไตกันให้มากขึ้น จะช่วยให้ป้องกันและดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ภาวะของ โรคไต คือกลุ่มอาการที่เกิดจากการที่ไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา โดยปกติแล้วไตจะทำหน้าที่ฟอกเลือดหรือขับของเสียออกจากร่างกาย รวมทั้งคัดกรองและดูดกลับสารอาหารที่มีประโยชน์กลับเข้าไปเพื่อที่ร่างกายจะได้นำไปใช้งาน ส่วนของเสียหรือของเหลวส่วนเกินจะถูกไตขับออกมาในรูปของปัสสาวะ หากไตเกิดความเสียหายหรือเสื่อมสภาพจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ โรคเกี่ยวกับไตที่พบบ่อยๆมีอยู่หลายโรค เช่น ไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ ไตวาย เป็นต้น แต่ในบทความนี้จะพูดถึงโรคไตวายเป็นหลัก
ไตวาย(Kidney Failure) คือภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการกรองของเหลว ทำให้ไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ ทำให้มีสารบางอย่างตกค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งถ้ามีปริมาณที่มากเกินไปก็จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพตามมา เนื่องจากระดับของเหลวและแร่ธาตุจะขาดความสมดุล หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ร่างกายอาจมีความผิดปกติอย่างรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
โรคไตอาการ
โรคไตวายสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งแต่ละแบบอาการจะแตกต่างกันไป ดังนี้
- ไตวายเฉียบพลัน เป็นไตวายชนิดที่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที อาการจะเริ่มตั้งแต่ปัสสาวะน้อยลง บางรายไม่ปัสสาวะเลยเพราะไตไม่ทำงาน เหนื่อย อ่อนเพลีย มึนงง เบื่ออาหาร มีอาการบวมตามแขนขา ลองกดแล้วมีรอยบุ๋ม คลื่นไส้อาเจียน ง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา บางรายอาจมีอาการปวดตามชายโครง ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงอาจช็อคหมดสติและเข้าสู่ภาวะโคม่าได้
- ไตวายเรื้อรัง ไตวายชนิดนี้จะค่อยๆพัฒนา อาจใช้เวลานานหลายปีโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ซึ่งกว่าจะรู้อาการก็อาจจะหนักแล้ว สำหรับไตวายเรื้อรังจะแบ่งออกเป็น 5 ระยะตามความสามารถในการทำงานของไต อาการอาจเริ่มตั้งแต่ไตอักเสบ ไตค่อยๆเสื่อมลง ประสิทธิการทำงานจะลดลง ในช่วงแรกจะไม่ปรากฏอาการใดๆมากนักจนโรคพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 4-5 น้ำหนักตัวจะเริ่มลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ใต้ตาดำคล้ำ อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยและง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา เมื่อไตทำงานได้ไม่ดีจึงทำให้ปัสสาวะน้อยลง มีอาการบวมน้ำ เป็นตะคริวบ่อย สมดุลแร่ธาตุในร่างกายเปลี่ยนแปลง หากมีอาการเหล่านี้ถือว่าป่วยเป็นโรคไตในระยะที่อันตรายมาก เพราะฉะนั้นหามีอาการแค่ 2-3 อย่างก็รีบไปโรงพยาบาลได้แล้ว เพราะหากรักษาไม่ทัน อาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ หรือหากผู้ชายท่านไหนที่ไม่แน่ใจอาการว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ คุณอาจสนใจบทความนี้ อาการโรคไส้เลื่อน
โรคไต มีกี่ระยะ
โรคไตวายเฉียบพลันมีแค่ระยะเดียว ส่วนโรคไตวายเรื้อรังมี 5 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 มักจะยังไม่มีอาการใดๆปรากฏแต่สามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีทางการแพทย์ เพราะไตจะเริ่มเสื่อม ค่าการทำงานของไตยังอยู่ที่ 90 หรือมากกว่านั้น แต่ว่าอาจมีอาการกรวยไตอักเสบหรือพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
- ระยะที่ 2 ไตเสื่อมมากขึ้น แต่ยังคงไม่ปรากฏอาการใดๆเช่นเดิม ค่าการทำงานของไตลดลงเหลือ 60-89
- ระยะที่ 3 ค่าการทำงานของไตจะลดลงอีก โดยอยู่ที่ 30-59 ส่วนอาการผิดปกติอื่นๆยังไม่มี
- ระยะที่ 4 ค่าการทำงานของไตเหลืออยู่ที่ 15-29 และจะเริ่มมีอาการผิดปกติทางร่างกายในระยะนี้ เช่น น้ำหนักตัวลง เบื่ออาหาร ทานได้น้อยลง ผิวแห้งและคันมากผิดปกติ เป็นตะคริวบ่อย บวมน้ำโดยจะบวมทั้งตัวแต่จะสังเกตได้ง่ายที่แขนและขา สับสนมึนงง ปัสสาวะลดน้อย รู้สึกไม่สบายตัวอยู่ตลอดเวลา
- ระยะที่ 5 เป็นระยะสุดท้ายของโรค ซึ่งอาการจะคล้ายกับระยะที่ 4แต่จะรุนแรงมากกว่า มีภาวะโลหิตจางอย่างมาก แร่ธาตุในร่างกายขาดความสมดุลอย่างรุนแรง โดยเฉพาะฟอสเฟตและแคลเซียม ทำให้สูญเสียมวลกระดูก กระดูกจึงเปราะหักได้ง่าย ในระยะนี้หากรักษาไม่ทันมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้สูง
โรคไต ห้ามกินอะไร
เมื่อป่วยเป็นโรคไต ไม่ใช่แค่อาหารเค็มอย่างเดียวที่ต้องงด เพราะผู้ป่วยต้องพยายามรักษาสมดุลแร่ธาตุและของเหลวในร่างกายด้วย เพราะฉะนั้นอาจไม่ถึงกับห้ามกินอย่างเด็ดขาด แต่ก็ต้องควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดที่สุด ดังนี้
- อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เมื่อไตเสื่อม ไตจะขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายได้น้อยลง ทำให้เกิดการตกค้างสะสม หากร่างกายมีระดับโพแทสเซียมสูงเกินไป จะก่อให้มีอาการ เหนื่อย อ่อนเพลีย ใจสั่น หายใจหอบแต่ชีพจรเต้นช้าลง ในรายที่อาการรุนแรงหัวใจอาจหยุดเต้นได้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยโรคไตจึงควรงดทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ผักสดสีเข้มทุกชนิด ปลาแซลมอน นมวัว ธัญพืช ลูกเกด ส้ม กล้วย เป็นต้น อย่างไรก็ตามโพแทสเซียมยังจำเป็นต่อร่างกายอยู่ เพราะมันช่วยในเรื่องการปรับสมดุลของเหลวในร่างกาย ช่วยให้หัวใจทำงานได้เป็นปกติ แต่ว่าผู้ป่วยโรคนี้ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม จึงทานได้เฉพาะอาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำเท่านั้น เช่น ผักผลไม้สีซีดอย่างผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา ฟักเขียว บวบเหลี่ยม หอมหัวใหญ่ ถั่วงอก เห็ดหูหนูขาว เป็นต้น อย่างไรก็ตามอาจทานผักที่มีโพแทสเซียมสูงนานๆครั้งก็ได้เพื่อรักษาสมดุลของธาตุโพแทสเซียม ทั้งนี้หากกังวลเรื่องปริมาณโซเดียมที่ร่างกายได้รับ ก็มีเคล็ดลับในการปรุงอาหารเพื่อลดโซเดียมคือการลวกผักในน้ำร้อน ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดโซเดียมลงได้ถึง 30-40% เลยทีเดียว แต่ถ้าหากไปตรวจร่างกายแล้วพบว่าระดับโซเดียมสูงมากเกินไป แนะนำให้งดทานผลไม้ทุกชนิดแล้วหันมาทานผักที่มีโซเดียมต่ำแทนจะดีต่อสุขภาพมากกว่า
- อาหารที่มีโซเดียมสูง โดยเฉพาะอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกล่องแช่แข็ง ขนมขบเคี้ยว น้ำปลาและซอสปรุงรสทุกชนิด เน้นทานอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบธรรมชาติ มีขั้นตอนการปรุงน้อย ปรุงรสไม่มากและหลีกเลี่ยงรสเค็มให้ได้มากที่สุด ในระยะแรกผู้ป่วยอาจจะทานอาหารได้ไม่มากนัก เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันการเบื่ออาหารแนะนำให้ใช้สมุนไพร เครื่องเทศและวัตถุให้รสชาติจากธรรมชาติมาปรุงอาหารแทน เช่น มะนาว ขิง ข่า ตะไคร้ ผักชี กระชาย พริกไทยดำ หอมแดง กระเทียม กระวาน อบเชย กานพลู เป็นต้น ถึงแม้อาหารจะรสไม่จัดมากนัก แต่กลิ่นที่หอมจะช่วยกระตุ้นให้มีความอยากอาหารมากยิ่งขึ้น
- อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง สำหรับผู้ป่วยที่มีฟอสฟอรัสในเลือดสูง ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงๆด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากนมเครื่องในสัตว์ ช็อคโกแลต ปลาทั้งกระดูก ธัญพืช เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องงดอาหารที่มียีสต์และผงฟูเป็นส่วนประกอบด้วย เช่น ขนมปัง เค้ก คุ้กกี้ โดนัท เป็นต้น
- น้ำเปล่า ถึงแม้น้ำเปล่าจะจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่มีอาการบวมน้ำ จำเป็นต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวัน โดยดื่มแค่เพียง 3-4 แก้วต่อวันและควรดื่มแค่น้ำเปล่าเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการบวมน้ำสามารถดื่มน้ำได้มากกว่านี้และดื่มเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่าได้ด้วย อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคไตในระดับที่เท่าไร ปริมาณน้ำที่ควรดื่มคือเท่าไรและดื่มอะไรได้บ้าง การเข้าใจระยะของโรคโดยละเอียดจะช่วยให้ดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น
เมื่ออ่านกันจบแล้วจะรู้ว่าโรคนี้ค่อนข้างอันตรายและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตค่อนข้างมากโดยเฉพาะถ้าโรคพัฒนาไปจนถึงระยะที่ 4-5 เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ทุกคนเริ่มดูแลสุขภาพกันเสียตั้งแต่ตอนนี้โดยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่โดยอาหารต้องปรุงจากวัตถุดิบที่สดสะอาด ผ่านขั้นตอนการปรุงน้อยๆและปรุงรสไม่จัดเกินไป งดอาหารแปรรูปและอาหารขยะต่างๆ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้มากๆและพักผ่อนให้เพียงพอ การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจะช่วยลดโอกาสการเป็นโรคไตลงได้มากเลยทีเดียว